ผ้าทอ
ผลิตภัณฑ์ผ้าทอเริ่มต้นจากการสร้างอาชีพสุจริตและสร้างรายได้ให้สตรีไม่จำกัดวัยบนดอยตุง โดยต่อยอดจากทักษะและภูมิปัญญาดั้งเดิมในการทอผ้า ปักผ้า เย็บผ้า โครงการจัดหานักออกแบบร่วมสมัยมาพัฒนารูปแบบสินค้าให้ตรงตามความต้องการของตลาด ควบคู่กับการยกระดับวัตถุดิบ อุปกรณ์ รวมถึงกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การย้อมสีธรรมชาติ ตลอดจนการออกแบบตัดเย็บให้เหลือเศษผ้าน้อยที่สุดตามแนวคิด zero waste ผลิตภัณฑ์ของดอยตุงจึงเป็นผ้าทอมือคุณภาพสูง และคงอัตลักษณ์ของชนเผ่าอันน่าภาคภูมิใจ
กระดาษสา
ต้นปอสาเป็นต้นไม้ดั้งเดิม ในแถบพื้นที่ป่าดอยตุงที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ปลูกแซมเข้าไปในระหว่างการปลูกป่าอนุรักษ์ เนื่องจากเปลือกปอสาสามารถนำมาทำกระดาษได้โดยไม่ต้องตัดต้นไม้ จากนั้นจึงมีการก่อตั้งโรงงานกระดาษสาขึ้นเพื่อสร้างงานให้คนท้องถิ่นและเพิ่มมูลค่าของวัตถุดิบในพื้นที่ ในขณะเดียวกันก็เป็นการทำธุรกิจที่ให้ชุมชนอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืนด้วย
กระดาษสาดอยตุงมี 2 ชนิดแตกต่างกันตามรูปแบบการผลิต คือ แบบญี่ปุ่นและแบบไทย กระดาษสาญี่ปุ่นมีเนื้อหนามักนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น การ์ด กล่อง ปกสมุด พัด ซองจดหมาย แฟ้ม เป็นต้น ส่วนกระดาษสาไทยที่บางเบากว่ามักขายเป็นแผ่นใหญ่ จุดเด่นอยู่ที่ลวดลายพิเศษจากกากกาแฟ ใบแมคคาเดเมีย เศษเหลือของเส้นด้าย เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย zero waste ของแบรนด์ดอยตุงอีกเช่นกัน
-
กระดาษสา
ต้นปอสาเป็นต้นไม้ดั้งเดิมที่มีอยู่ในป่าแถบพื้นที่ดอยตุง เมื่อโครงการฯ เริ่มดำเนินการปลูกป่า จึงได้ปลูกปอสาแซมเข้าไปด้วย เปลือกปอสา สามารถนำมาทำกระดาษได้ โดยไม่ต้องตัดต้น จึงก่อตั้งขึ้นเพื่อต่อยอดศักยภาพของพื้นที่ สร้างงานให้คนท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน
กระดาษสาดอยตุง มี 2 แบบ คือ กระดาษสาญี่ปุ่น และกระดาษสาไทย ตามรูปแบบการผลิต โดยกระดาษสาญี่ปุ่น มักนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น การ์ด กล่อง ปกสมุด พัด ซองจดหมาย แฟ้ม เป็นต้น ส่วนกระดาษสาไทย มักขายเป็นแผ่น โดยเสริมลวดลายจากกากกาแฟ ใบแมคคาดาเมีย เศษเหลือของเส้นด้าย เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย ZERO WASTE ของดอยตุง
เซรามิก
ผลิตภัณฑ์เซรามิกของดอยตุงเริ่มต้นจากการนำใบหญ้าแฝกมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เมื่อ พ.ศ. 2536 โครงการพัฒนาดอยตุงฯ นำหญ้าแฝกมาปลูกในพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาดินถล่มจากการตัดถนนขึ้นสู่ดอยตุง และเมื่อต้องมีการเพาะกล้าไม้จำนวนมากจึงมีการผลิตกระถางดินผสมหญ้าแฝกแทนถุงดำเพื่อลดปริมาณขยะ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจึงมีการชักชวนให้คนในพื้นที่มาทำงานผลิตเครื่องปั้นดินเผาอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นอาชีพทางเลือกสำหรับหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่สนใจงานฝีมือ และอยากทำงานในพื้นที่ ไม่ต้องดิ้นรนไปหางานทำในเมือง
เซรามิกของดอยตุงได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทั้งกระบวนการออกแบบและผลิต โดยมีพันธมิตรสำคัญอย่างเมืองคาซะมะในประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังด้านเซรามิกที่ส่งผู้เชี่ยวชาญมาฝึกสอนและพัฒนาศักยภาพของช่างฝีมือดอยตุงให้ดียิ่งขึ้น
DoiTung & Friends
โครงการ DoiTung & Friends เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2559 เพื่อเปิดพื้นที่ให้พันธมิตรของดอยตุง อาทิ คนเมืองรุ่นใหม่ และศิลปินชื่อดังทำงานร่วมกับช่างฝีมือดอยตุงเพื่อสร้างสรรค์งานหัตถกรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ดอยตุงเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนเมืองได้ดี แต่ยังคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่น่าภาคภูมิใจของชาวดอยตุง เป็นการสร้างสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างชุมชนดอยตุงและสังคมเมืองสวนกระแสความเหลื่อมล้ำทางสังคม