เมื่อโลกแฟชั่นได้สร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ เพื่อสร้างความสุนทรีให้กับมนุษย์ในแง่มุมต่างๆ อย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา จนบางครั้งกลายเป็นธุรกิจที่สร้างผลกระทบในเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไม่ตั้งใจ ขณะที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันได้ทวีความรุนแรงขึ้น และผลักดันให้เราต้องเผชิญหน้ากับปัญหาโดยตรง ไม่ว่าจะเป็น วิกฤตการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate Change) ภาวะโลกร้อน ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เป็นต้น แต่สิ่งที่น่าเป็นกังวลไม่แพ้กันคือเราทุกคนก็กำลังส่งต่อปัญหานี้ไปสู่ลูกหลานในอนาคต ซึ่งเมื่อถึงวันนั้นอาจไม่มีทางแก้แล้ว
ประเด็นสำคัญนี้จึงกลายมาเป็นแนวคิดหลักในการรังสรรค์งานแฟชั่นของ กลุ่มนักออกแบบ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ ผู้สร้างศิลปะแฟชั่นผ่านแบรนด์ ดอยตุง นำเสนอเรื่องราวการทอผ้าแบบดั้งเดิมตามวิถีชนเผ่า การทำเซรามิกสุดประณีต ที่เปลี่ยนก้อนดินให้กลายเป็นงานศิลปะรวมเข้ากับแฟชั่นการออกแบบ อันนำไปสู่ชิ้นงานสร้างสรรค์ที่เป็นมากกว่า เทรนด์ โดยนอกจาก ดีไซน์โก้ ฟังก์ชันดีแล้ว สิ่งที่ต้องยึดเป็นหัวใจสำคัญต่อจากนี้ไปคือ ต้องไม่ทำลายโลก โดยให้ความสำคัญกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การเลือกใช้วัตถุดิบที่เหมาะสม กระบวนการผลิตที่มุ่งหวังที่จะลดขั้นตอนในการผลิต ระยะเวลาในการทำงานที่สั้นลง การลดการใช้พลังงาน รวมไปถึงการลดปริมาณของเสียที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต
โดยล่าสุด กลุ่มนักออกแบบ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้สร้างสรรค์ผลงานภายใต้แนวคิดการออกแบบอย่างยั่งยืนที่เน้นสมดุลแห่งความเรียบง่าย และลดผลกระทบต่อธรรมชาติให้มากที่สุดในทุกขั้นตอนการผลิต ยึดหลักแนวคิด ซีโร เวสต์ (Zero Waste) หรือ ขยะเหลือศูนย์ ตั้งแต่การออกแบบ ตัดเย็บเพื่อลดปริมาณของเสียเหลือทิ้งให้น้อยที่สุดหรือไม่มีเหลือทิ้งเป็นขยะเลย ตลอดจนนำเอาขยะพลาสติกในท้องทะเล และเศษวัสดุเหลือใช้มาสร้างสรรค์เป็นผลงานที่สวยและใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน เพื่อลดการใช้ทรัพยากรใหม่ในการผลิตสินค้าเเฟชั่น

การันตีผลงานคอลเล็กชันนี้ ด้วย 5 รางวัลคุณภาพ จาก 2 เวทีระดับประเทศ ได้แก่ 1 รางวัลผู้ประกอบธุรกิจส่งออกดีเด่น (Prime Minister’s Export Award :: PM Award 2020) ประเภทสินค้าที่มีการออกแบบยอดเยี่ยม กลุ่มสินค้าความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมผลิตภัณฑ์แฟชั่นเครื่องแต่งกาย และ 4 รางวัล สินค้าไทยที่มีการออกแบบดี (Design Excellence Award 2020 หรือ Demark) ประเภทกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ กลุ่มความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมผลิตภัณฑ์แฟชั่นเครื่องแต่งกาย และกลุ่มออกแบบบรรจุภัณฑ์ จัดโดย สำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อส่งเสริมและยกระดับสินค้าไทยให้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก


เสื้อโค้ท ดอยตุง คอลเล็กชัน “ม้ง” (HMONG) เสื้อโค้ท ดอยตุง คอลเล็กชัน “ม้ง” (HMONG) เสื้อโค้ท ดอยตุง คอลเล็กชัน “ม้ง” (HMONG) เสื้อโค้ท ดอยตุง คอลเล็กชัน “ม้ง” (HMONG) เสื้อโค้ท ดอยตุง คอลเล็กชัน “ม้ง” (HMONG) กระเป๋า ดอยตุง คอลเล็กชัน “ม้ง” (HMONG)
โดยผลงานที่ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ รังสรรค์ออกมาเป็นงานดีไซน์ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ได้แก่ คอลเล็กชันเสื้อโค้ท และ กระเป๋า ที่มีชื่อเดียวกันว่า ม้ง (HMONG) โดย เสื้อโค้ทม้ง (HMONG : Coat) ได้แรงบันดาลใจมาจากเครื่องแต่งกายชนเผ่าม้งบนดอยตุง ที่มีอากาศหนาวเย็น ผสมกับการเล่นสีสันที่สดใสเพิ่มความสนุกให้ชิ้นงาน และที่สำคัญคือการนำขวดพลาสติกเหลือใช้ขนาด 600 มิลลิลิตร จำนวน 130 ใบ มาผ่านกระบวนการอัพไซคลิง (Upcycling) ใช้เป็นวัสดุร่วมกับเส้นใยธรรมชาติ ถักทอออกมาเป็นเสื้อโค้ทแฟชั่นสุดล้ำ และยังมีฟังก์ชันพิเศษเลือกใส่ได้ 2 ด้าน 2 สไตล์ สามารถกันหนาว และกันละอองน้ำได้ดี ทำให้ไม่อับชื้น ส่วน กระเป๋าม้ง (HMONG: Shoulder Bag) ความเก๋อยู่ที่สร้างสรรค์จากลายผ้าที่มีความร่วมสมัย ทอด้วยเส้นใยธรรมชาติจากเยื่อไผ่ 100% และวัสดุด้านในยังเป็นฟรอยด์ฉนวนเก็บอุณหภูมิ สามารถใส่กล่องข้าว ลดการเกิดปัญหาอาหารบูดเสีย ฟู้ดเวสท์ (Food Waste) ได้ แถมยังมีความทนทานทำให้ยืดอายุการใช้งานของกระเป๋าได้นานขึ้น

นอกจากนี้ยังได้ออกแบบชุดเซรามิกแก้วกาแฟและชุดชงกาแฟดริป ดีไซน์มินิมอล ชื่อว่า เซรามิกซีโร(CERAMICS ZERO) มีลูกเล่นตรงด้ามจับรูปทรงแปลกตา ได้แรงบันดาลใจในการออกแบบจากความโค้งมนตามธรรมชาติ ทั้งยังโอบรับกับเส้นของลวดลายสีขาวตัดกับสีดำสนิทที่เกิดจากการเผาด้วยเทคนิคพิเศษ คือ การใช้เศษหญ้าแฝกและเปลือกแมคคาเดเมียที่ถูกทิ้งมาเป็นเชื้อเพลิงในการเผา เขม่าควันที่เกิดขึ้นระหว่างการเผาช่วยสร้างสรรค์ ให้สีและลายของเซรามิกแต่ละชิ้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว กลายเป็นผลงานมาสเตอร์พีซชิ้นเดียวในโลก ที่เกิดจากการนำเอาเศษเหลือทิ้งมาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด


บรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์กาแฟพีเบอร์รีดอยตุง
เช่นเดียวกับ อีก 1 ผลงาน ที่เกิดจากแนวคิดการนำเศษวัสดุที่หลงเหลือจากกระบวนการผลิตมาทำให้เกิดประโยชน์แทนการทิ้งเป็นขยะ คือ ผลงานการออกแบบ บรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์กาแฟพีเบอร์รีดอยตุง ที่ตัวกล่องทำจากเศษวัสดุที่เหลือจากการผลิตกระดาษสาและเศษฝ้าย จากโรงงานสาและโรงงานทอผ้าของ โครงการพัฒนาดอยตุงฯ จังหวัดเชียงราย โดยนำมาขึ้นรูปด้วยแม่พิมพ์ปูนปลาสเตอร์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตเซรามิก ปูนปลาสเตอร์จะช่วยให้บรรจุภัณฑ์ที่ขึ้นรูปแล้วแห้งเร็วขึ้น ลดเวลาการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้เป็นกระถางปลูกต้นไม้ได้ด้วย เพราะเป็นบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ถือเป็นไอเดียสุดว้าวในการนำเศษเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตอื่นๆ มาสร้างเป็นผลงานชิ้นใหม่ได้อย่างมีคุณค่า
มาเป็นสายแฟชั่นรักษ์โลกที่ช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง เพื่อโลกในวันนี้และในอนาคตไปพร้อมๆ กัน อัปเดตหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ Facebook: DoiTungClub และ Line: @DoiTung_Lifestyle